เลือกช่างสักอย่างไร?
เอาละ มาถึงคำถามที่ทุกคนรอคอยแล้ว
บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราไม่ใช่คำว่าเลือกร้านสัก
เหตุผลคือเราโฟกัสที่ช่างมากกว่า ร้านสักมันก็เป็นแค่ตัวร้านน่ะ
ปีนี้ช่างคนที่สักด้วยอาจจะอยู่ประจำที่ร้านนึง
แต่อีกปีอาจจะย้ายร้านหรือแม้แต่ย้ายประเทศเลยก็ได้ เพราะงั้นเราควรโฟกัสที่ตัวคนมากกว่าสถานที่
นั่นแหละ แล้วเราจะเลือกช่างสักยังไงดีละ
คำตอบง่ายๆเลยคือต้องรู้ก่อนว่าเราอยากจะสักงานแบบไหน
สิ่งแรกที่มือใหม่ต้องจำไว้นะ ช่างจากแต่ละร้านไม่ได้ถนัดงานไปหมดทุกแบบ
ช่างหลายๆคนจะมีงานสไตล์ที่ตัวเองถนัด ทำได้ดีโดดเด้งออกมาอยู่ก็แบบสองแบบนี่แหละ
ไม่มีหรอกช่างเทพๆที่ถนัดไปหมด ทำได้ทุกแนวน่ะ แล้วช่างที่หาสไตล์ตัวเองไม่เจอ
ใครเอาแบบอะไรมาให้ก็สักไปงั้นๆ ไม่ปฏิเสธสักแนว
แบบนี้คงไม่ใช่ช่างที่ดีเท่าไหร่นัก
เท่าที่เราอ่านกระทู้ตามหาร้านสักมา เราเห็นหลายคนแยกไม่ค่อยออกว่าช่างคนไหนถนัดงานอะไร สักสไตล์นี้ไปร้านไหนที่เขาโดดเด่น ประมาณว่าได้ยินร้านไหนดัง คนพูดถึงเยอะก็จำๆมาแล้วคิดว่าจะไปสักกับที่ร้านนั้น โดยที่ไม่เคยดูผลงานช่างมาก่อนเลยว่าในร้านนั้นมีช่างคนไหนที่ถนัดสไตล์แบบที่เราต้องการหรือเปล่า อยากให้จำไว้ตั้งแต่ตอนนี้ว่าการเลือกช่างสักคือการเลือกคนที่จะสักในลายที่ เราถูกใจ เป็นการเลือกเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เลือกตามที่สังคมคิดว่าช่างคนนั้นดีหรือดังแค่ไหน ในส่วนนี้เราขอให้คำแนะนำแบบเปิดใจกันไปเลยว่าช่างในบ้านเราใครที่ถนัดงานสไตล์ไหนกันบ้าง ข้อมูลที่จะแนะนำเกิดจากการศึกษาดูงานของเราเกือบ 10 ปีนะ ช่างหลายๆคนที่จะพูดต่อไปนี้เราคิดว่าทำงานในสไตล์นั้นๆได้เยี่ยม ถ้าจะมีใครคิดเห็นเป็นอย่างอื่นอันนี้โทษกันไม่ได้นะ เรื่องรสนิยมไม่มีถูกผิดเนาะ
Old
school/ American traditional - ช่างปลา ตวงพร @ Stay Cold
Tattoo เอกมัย
Neo-traditional - ช่างพุท @
Dazzling Tattoo ลาดพร้าว 76
New school - ช่างพุท @
Dazzling Tattoo ลาดพร้าว 76
Realistic - ช่างอัล @ Divine
Ink Tattoo ถนนข้าวสาร/ Bkk Ink Studio ถนนตะนาว
Japanese - ช่างยิ่ง @ Ying
Youngterk ซอยโชคชัยร่วมมิตร/ ช่างเล็ก สักลาย สตูดิโอ ลิโด ชั้น 2
Thai - ช่างเต่า @ Ozzfest วงเวียนใหญ่
Neo-Thai - ช่างบัมพ์ @
Easy Tattoo นวมินทร์/ ช่างมิ้ม @ Mimp Tattoo RCA
Bio-mechanical - Monster Ink Tattoo ถนนข้าวสาร
Geometric/Minimalist/Dotwork & Line/Mandala -
ช่างต้น ช่างปาล์ม ช่างไผ่ @ Lone Wolf Studio อาคารบุญทิมา 4/ ช่างป็อบ @ Black Dog Ink รัตนาธิเบศร์
ถึงเราจะมั่นใจว่าช่างที่แนะนำไปดีแค่ไหนแต่เอาเข้าจริงๆแล้วอาจจะไม่ถูกรสนิยมคนอ่านก็ได้
ข้อมูลพวกนี้อาจจะแค่พอใช้เป็นไกด์ไลน์ได้บ้างเท่านั้น
ทางที่ดีควรศึกษาดูงานเองให้มากๆเข้าไว้ IG เป็นแหล่งที่ติดตามงานสักจากทั่วทุกมุมโลกได้ดีที่สุด
เลือกช่างที่เราชอบงานของเขาด้วยตัวเอง อย่าไปฟังใครแนะนำช่างที่เขาคิดว่าดี
เพราะช่างคนนั้นอาจจะไม่เก่งแนวที่เราอยากจะสัก
หรือถึงจะเก่งแต่อาจจะไม่ถูกใจก็ได้
เวลาเลือกช่างให้ดูจากการกดไลค์ภาพของตัวเองเป็นหลัก
ช่างคนไหนที่เราดูงานเขาแล้วกดไลค์เรียงกันรัวๆ (ใน 10 รูป
ควรมีที่กดไลค์อย่างต่ำ 7 รูป)
ออกอาการกรี๊ดกร๊าดเสี้ยนเข็มตลอดเวลา นั่นแหละ ควรจะเลือกช่างคนนั้น
นอกจากนี้อาจจะพิจารณาจากความก้าวหน้าในผลงานก็ได้ ช่างบางคนตอนแรกๆงานก็ดีอยู่
ผ่านไปสามปีกว่าเหมือนงานไม่ได้พัฒนาไปจากเดิมเท่าไหร่เลย แบบนี้ก็เซ็งๆเหมือนกัน
ประสบการณ์ตรงที่เจอมากับตัวเลยนะอันนี้ ถ้าหาช่างที่เราคลั่งไคล้เจอแล้ว
ไม่ว่าผ่านไปกี่ปีก็จะยังชอบงานของเขาได้แน่นอน
อีกเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ อย่าเลือกช่างสักจากราคา
(สำหรับการคิดราคาเราจะพูดแบบลงลึกที่ด้านล่าง)
แต่เอาคร่าวๆก่อนคือร้านสักมีมากมายหลายราคา ทั้งถูกทั้งแพง
ที่พูดกันว่ารอยสักถูกๆไม่เคยดี มันก็ไม่ใช่เสมอไป ช่างสักบางคนอยู่มาเก่าแก่
อยู่มานาน อาศัยกินบุญเก่าไปเรื่อยๆ
ผลงานที่โดดเด่นชัดเจนว่าเก่งสไตล์ไหนก็ไม่ประจักษ์ชัด
แต่คนก็แห่แหนกันไปสักด้วยเยอะแยะ และต้องจ่ายในราคาที่แสนแพง ต่างกับช่างหัดใหม่บางคนที่มีการพัฒนาฝีมืออย่างรวดเร็ว
แต่ด้วยความที่พรรษายังไม่แก่กล้าจะให้ไปตั้งราคาแพงๆคงไม่ได้
ก็เลยต้องตั้งราคาต่ำๆหน่อยตามที่ประเมินฝีมือตัวเอง
จะมานึกว่าช่างที่คิดค่าสักถูกๆคือช่างฝึกหัด
และช่างฝึกหัดฝีมือยังไม่ดีพอจะทำให้เราได้งานไม่ดี ดังนั้นไม่ควรไปใช้บริการกับช่างฝึกหัดหรือช่างที่ยังไม่เทิร์นโปรฯเต็มตัว
ความคิดแบบนี้มันก็ไม่ถูก เราเชื่อนะว่าถ้าศึกษางานสักมาพอสมควร
ได้ดูตัวอย่างงานไทยและงานนอกมากพอ
เราจะแยกได้เลยว่างานสักจากช่างราคาถูกคนไหนคืองานกากๆ
งานไหนคืองานสักจากช่างหัดใหม่ที่ฝีมือเข้าท่าแต่ตั้งราคาแบบคนเจียมตัว
ถ้าไม่มีลูกค้าแล้วเขาจะฝึกกับใครที่ไหน ฝึกกับหนังเทียมมันก็ไม่เหมือนคนจริงหรอก
เราเข้าใจว่าทุกคนก็อยากได้รอยสักที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองมีเงินจ่ายไหวนั่นแหละ
แค่อยากให้ลองมองในมุมนี้ดูบ้าง
พวกที่มีเงินมากๆไม่เดือดร้อนอันนี้ก็ตัดออกไป คงไม่ใช้เรื่องราคามาพิจารณาเลือกช่างอยู่แล้ว แต่กับคนที่รู้สึกว่าเรื่องเงินยังเป็นปัญหาอยู่ก็ต้องทำการบ้านมากหน่อย ถ้าคิดว่าจะยอมเก็บเงินสู้เพื่อแลกรอยสักดีๆก็ต้องหาช่างที่เทพในสไตล์ที่ต้องการจริงๆ ไม่ใช่ไปสะเปะสะเปะกับช่างที่ดีแต่ชื่อ ค่าตัวแพงลิบแต่ฝีมืองั้นๆ แบบนี้สู้ไปสักกับช่างเด็กๆที่หัดได้ปีเดียวแต่ผลงานไม่ต่างกันดีกว่า เซฟเงินไปได้หลายพัน อย่าคิดว่าที่พูดไม่มีจริงนะ เราและเพื่อนๆที่รักรอยสักเห็นผลงานมากับตา เทียบกันได้เลย หรือถ้าคิดว่าอดทนรอเก็บเงินก้อนใหญ่ไม่ไหว ความจำเป็นอื่นมันบังคับให้ต้องเอาเงินไปลงกับส่วนนั้นก่อน ก็ต้องทำการบ้านในการหาช่างหัดใหม่หรือช่างที่ยังไม่เทิร์นโปรฯเต็มตัวที่เขาถนัดแนวที่เราชอบ แล้วดูว่าฝีมือเขาดีพอที่เราจะรับได้มั้ย ถ้ารับได้ก็เอาเลย ได้ราคาดีแน่นอน เอาตัวเองเป็นหลัก ดูผลงานเขาแล้วสบายตาสบายใจ ถ้ามีผลงานเขาติดหนังเนื้อเราเองก็ยังรู้สึกสบายตาสบายใจได้ ใครจะมองว่ายังไงก็ช่างเขาแล้ว เขาไม่ได้มาช่วยเราจ่ายนี่นา
ส่วนตัวรู้สึกว่าร้านสักชื่อดังที่คิดราคาแพงหรือตกแต่งอย่างหรูหราดีจะได้เปรียบในแง่มีทุนไปลงกับเครื่องมือในการทำความสะอาดต่างๆ เพราะขั้นตอนหลายๆอย่างจะซับซ้อนและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้วย ช่างที่พรรษาน้อยอาจจะยังไม่มีทุนมาลงกับตรงนี้มาก อาจจะทำได้แต่การทำความสะอาดพื้นฐาน ใครที่อยากเอาชัวร์สุดๆเรื่องความสะอาดจะเลือกร้านที่ดูแพงเพราะเชื่อว่าเขาลงทุนกับเรื่องความสะอาดได้มากกว่าก็ไม่ผิดหรอก
ร้านสักแบบไหนไว้ใจได้เรื่องความสะอาด?
เรื่องความสะอาด เพื่อให้เรื่องมันง่ายเข้า
ใครที่ถูกใจงานสักสไตล์ใดสไตล์นึงที่เราแนะนำไปด้านบน
ลองแวะไปดูตัวอย่างผลงานของช่างซะ ถ้าเห็นด้วยว่าดีจริงอย่างที่เราว่าไป
ก็นัดวันจองคิวโอนมัดจำได้เลย ร้านระดับนี้สะอาดแท้ปลอดภัยชัวร์
ร้านดังๆที่ออกสื่อให้เห็นบ่อยๆ ตั้งในสถานที่ที่ดูแล้วสะอาด รั้วรอบขอบชิด มีแอร์
แบบนี้คือไว้ใจไปได้ครึ่งทางแล้ว
ส่วนที่เหลือถ้าต้องการความมั่นใจจริงๆก็ให้ดูที่จุดเหล่านี้
- บรรยากาศภายในร้านต้องโล่ง โปร่ง ไม่แออัด หรือดูอับชื้น
- ช่างสักใส่ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งป้องกันอยู่ตลอดเวลาที่ทำการสัก
- สิ่งของเครื่องใช้ที่มีโอกาสจะสัมผัสตัวลูกค้าและช่างสัก เช่น สายไฟเครื่องสัก แขนเก้าอี้นั่งสัก โต๊ะวางหมึกสัก จะต้องทำการหุ้มด้วยพลาสติคป้องกัน
- เข็มที่ใช้สักจะต้องเปิดใหม่จากซองสเตอริไลซ์ เป็นเข็มใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
- กระบอกสักที่สามารถใช้ซ้ำได้ก็ต้องอยู่ในซองสเตอริไลซ์ที่ทำไว้ใช้กับเครื่องอบความดันไอน้ำ (autoclave) ด้วยเช่นกัน
- มีดโกนที่ใช้กำจัดขนในส่วนที่จะสักก็ต้องเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง และถูกเปิดใหม่ให้เห็นๆกันเลย
- ก่อนจะนำเครื่องมือที่สามารถใช้ซ้ำได้ไปเข้า autoclave จะต้องทำความสะอาดด้วย ultrasonic cleaner
- สำหรับ autoclave และ ultrasonic cleaner จะต้องเก็บแยกไปในส่วนที่สะอาด ปลอดเชื้อจริงๆ เป็นห้องที่ไม่ให้คนภายนอกเข้า และทำ spore test กับเครื่องด้วย
- การทำ spore test มีความหมายแบบวิชาการว่าการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อ
โดยมากก็เจาะจงว่าตรวจกับเครื่องอบความดันไอน้ำนี่แหละ ประโยชน์คือมันจะช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการสเตอริไลซ์อุปกรณ์ทุกอย่างที่ต้องนำมาใช้ซ้ำและจำเป็นต้องทำความสะอาดด้วยการสเตอริไลซ์
ถ้าไม่ทำ spore test สม่ำเสมอ
อาจจะไม่รู้ว่ามาตรฐานการทำความสะอาดบกพร่องไปช่วงไหนบ้างหรือเปล่า
เข้าใจว่าในไทยอาจจะยังไม่มีหน่วยงานที่มาจี้เรื่องนี้มากเท่าในต่างประเทศ
ของเขามีสมาคมช่างสักประจำประเทศกันเลยนะ
ถ้ามีลูกค้าร้องเรียนและพบว่าผิดจริงก็ใช้อำนาจควบคู่กับสารธารณสุขประจำรัฐสั่งปิดร้านได้เลย
แต่ของเรากระทรวงสาธารณสุขที่เคยออกมาเย้วๆกับตำรวจสั่งปิดร้านสักบางร้านเมื่อปลายปีก่อนก็ไม่เห็นจะให้ความกระจ่างได้ว่ามีมาตรการด้านการตรวจสอบความสะอาดของร้านสักยังไง
เอาง่ายๆว่ากฎหมายรองรับว่าร้านสักคือสถานประกอบกิจการประเภทไหนยังไม่มีเลย
ทุกวันนี้ที่ขึ้นทะเบียนกันอยู่คือขึ้นว่าขายอุปกรณ์การสัก ไม่ใช่สถานรับสัก
กลับมาที่ spore test ก่อน ในบ้านเราก็มีบริษัทที่เขารับตรวจด้านนี้อยู่
คล้ายๆจะเป็นแล็บนี่แหละ
แต่ก็มีชุดทดสอบที่ทางบริษัทนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เอาเข้ามาขายนะ
ดูสภาพแล้วน่าจะทำกันเองได้ภายในร้าน ไม่ต้องไปจ้างคนนอก
อันนี้ก็สุดที่เราจะรู้ว่าร้านไหนใช้บริการกันยังไง จากประสบการณ์ส่วนตัว
แค่พูดถึง autoclave กับ spore test ให้ช่างบางคนได้ยิน
เขาก็ทึ่งแล้ว เพราะเอาเข้าจริงคนส่วนมากไม่รู้ลึกเท่าไหร่หรอก
แค่เห็นว่าเข็มสักที่เอามาสักให้ตัวเองเป็นเข็มใหม่ ไม่ได้ใช้ร่วมกับคนอื่นเขาก็จบ
พอใจแล้ว
- มีระบบที่ดีในการจัดการ waste disposal ต่างๆภายในร้าน
ในต่างประเทศเขามีบริษัทที่ให้บริการเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะเลยนะ
แต่เอาบริบทบ้านเราคิดว่าคงมีร้านสักน้อยแห่งมากที่จะจ้างมาใช้บริการ
(คงมีแต่สถานพยาบาลใช้กันมากกว่า)
เอาว่ามีถังขยะอันตรายที่แยกเป็นสัดส่วนชัดเจนและกำจัดทิ้งจริงๆก็พอแล้วสำหรับมาตรฐานแบบไทยๆ
ซึ่งถังขยะอันตรายที่ใช้งานในร้านสักก็สามารถหาซื้อได้จาก supplier ที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการสักแบบครบวงจรอยู่แล้ว
- หมึกที่ใช้สักต้องเป็นแบรนด์ที่ไว้ใจได้ ดูมีมาตรฐาน
ก่อนจะสักควรทำการบ้านไปก่อนว่าหมีกแบรนด์ที่นิยมใช้กันในไทยมีอะไรบ้าง
ฉลากเป็นยังไง มีกี่ขนาดความจุ เผื่อเจอฉลากที่หน้าตาแปลกๆมาจะได้ไหวตัวทัน
- ไม่ควรมีลูกค้าคนหรือแม้แต่ช่างคนอื่นที่ไม่ได้สักให้เราดื่มของมึนเมาหรือใช้สารเสพติดชนิดต่างๆในขณะที่เรารับการสัก
(ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)